ความจริงของชีวิต
ชีวิต {ขันธ์ 5}
ระบบร่างกาย ประกอบด้วย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด มันเหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ ปัสสาวะ ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดไปตามตัว และลมหายใจ
เมื่อพระพุทธเจ้าทำการศึกษาลึกลงไปอีกว่า “สิ่งใดกัน ที่มาประกอบรวมกันจนกลายเป็นองค์ประกอบเหล่านี้” (เช่นเดียวกับการที่นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาว่าสิ่งที่มาประกอบกันเป็นสสารต่าง ๆ คืออะไร หรือ หากแบ่งครึ่งสรรพสิ่งไปเรื่อย ๆ จนเหลือเพียงส่วนที่เล็กที่สุด ส่วนที่เล็กที่สุดนั้นคืออะไร) พระพุทธเจ้าพบว่า สิ่งที่มาประกอบรวมกันเป็นระบบร่างกายคือ “ธาตุ 4 ชนิด” อันได้แก่ ธาตุดิน {ปฐวีธาตุ}, ธาตุน้ำ {อาโปธาตุ}, ธาตุไฟ {เตโชธาตุ}, และธาตุลม {วาโยธาตุ}
ธาตุ 4 ชนิดนี้เป็นธาตุที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เป็นธาตุที่มีอยู่ตั้งแต่ “ก่อนกำเนิดจักรวาล” และเป็นองค์ประกอบของทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้
โดยสรรพสิ่งที่เรารับรู้ว่ามีตัวตนอยู่บนโลกใบนี้..
สิ่งที่มีลักษณะ 'แข้นแข็ง' คือสิ่งที่มีธาตุดินเป็นองค์ประกอบ
สิ่งที่มีลักษณะ 'เอิบอาบ' คือสิ่งที่มีธาตุน้ำเป็นองค์ประกอบ
สิ่งที่มีลักษณะ 'ร้อน' คือสิ่งที่มีธาตุไฟเป็นองค์ประกอบ
สิ่งที่มีลักษณะ 'พัดไปมา' คือสิ่งที่มีธาตุลมเป็นองค์ประกอบ
"สรรพสิ่ง" หมายถึง ทุก ๆ อย่างบนโลกใบนี้ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน ดาวหาง อุกาบาต แม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ ใบหญ้า ก้อนหิน บ้าน ถนน เสาไฟ โต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ สมุด ดินสอ ปากกา ยางลบ แก้วน้ำ หมู หมา แมว ไก่ วัว มนุษย์ ฯลฯ
ระบบความรู้สึก มีหน้าที่แสดงความรู้สึก โดยมีอยู่ 2 ระบบย่อย ได้แก่ ระบบความรู้สึกทางกายและระบบความรู้สึกทางจิต
- ระบบความรู้สึกทางกาย ทำหน้าที่แสดงความรู้สึกที่ร่างกาย {รูปขันธ์}
- ระบบความรู้สึกทางจิต ทำหน้าที่แสดงความรู้สึกที่จิต {เวทนาขันธ์}
โดย "ความรู้สึก" ที่ถูกแสดงออกบนกายและจิต (โดยระบบความรู้สึก) มีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ และความรู้สึกเฉย ๆ
ความรู้สึกสุข..
- ทางกาย คือ ความสบายกาย
เช่น เย็น (พอดี), อุ่น (พอดี), อิ่ม (พอดี) ฯ
- ทางจิต คือ ความสบายใจ
เช่น พอใจ, ดีใจ, ปลื้มใจ, ภูมิใจ ฯ
ความรู้สึกทุกข์..
- ทางกาย คือ ความไม่สบายกาย
เช่น หนาว (เย็นเกินไป), ร้อน (อุ่นเกินไป), หิว, อิ่มเกินไป, ปวดเมื่อย, เจ็บ, คัน ฯ
- ทางจิต คือ ความไม่สบายใจ
เช่น ไม่พอใจ, เศร้า, หดหู่, เหงา, โกรธ, กลัว ฯ
ความรู้สึกเฉย ๆ คือ ความรู้สึกที่ไม่สุขและไม่ทุกข์
ระบบความจำ มีสองหน้าที่คือ 1) การหมายรู้ และ 2) การจำ
การหมายรู้ คือการรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนในชีวิตนี้ เช่น การที่เด็กอนุบาลท่องจำ ก-ข-ค, การท่องจำคำศัพท์ภาษาต่างประเทศ, การเรียนภาษาที่สอง/สาม/สี่ ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนต้องใช้ "การรู้" ซึ่งเป็นหนึ่งในการทำงานของระบบความจำ
การจำ คือการที่สิ่งที่ได้รู้ถูกเก็บไว้ ซึ่งสิ่งที่ได้รู้นั้นสามารถผุดขึ้นมาได้เมื่อเราได้รับรู้สิ่งที่มีความเชื่อมโยงกับสิ่งนั้น
บางสิ่งจำเป็นต้องรู้บ่อย ๆ จึงจะจำได้ เช่น คำศัพท์ภาษาต่างประเทศ, บทเรียนที่ต้องจำไปสอบ ฯ ในขณะที่บางอย่าง รู้เพียงครั้งเดียวก็สามารถจำได้เลย เนื่องจากสิ่งที่ได้รู้นั้นมีความเชื่อมโยงกับความจำที่มีอยู่แล้วอย่างเข้มข้น
ระบบความคิดปรุงแต่ง มีหน้าที่นำความจำที่ถูกเก็บไว้ (โดยระบบความจำ) มาสร้างเรื่องราวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ดังนั้น ความคิดทุกความคิดที่เกิดขึ้นมา ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอนาคตหรือเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เกิดจากการทำงานของระบบความคิดปรุงแต่งทั้งสิ้น
ระบบการรับรู้ มีหน้าที่..
- รับรู้ภาพที่เข้ามาทางตา
- รับรู้เสียงที่เข้ามาทางหู
- รับรู้กลิ่นที่เข้ามาทางจมูก
- รับรู้รสที่เข้ามาทางลิ้น
- รับรู้สัมผัสที่เข้ามาทางกาย
- รับรู้ความรู้สึกที่เข้ามาทางใจ -- งง: เรื่องผัสสะ
- รับรู้ความคิดที่เข้ามาทางใจ -- งง
เมื่อใดที่รู้ เมื่อนั้นระบบการรับรู้ได้ทำงานแล้ว
ซึ่งระบบการรับรู้สามารถรับรู้ได้เพียงทีละอย่างเท่านั้น เช่น การที่บางคนสามารถนั่งอ่านหนังสือที่ร้านกาแฟได้โดยที่ไม่รู้สึกว่าถูกรบกวน นั่นเป็นเพราะว่าระบบการรับรู้สลับทำงานระหว่างที่ตา (คือรับรู้ภาพตัวหนังสือ) กับที่ใจ (คือรับรู้ความคิด) เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ไปรับรู้เสียงที่หู แต่ก็ไม่ใช่ว่าในขณะนั้นระบบการรับรู้ไม่ได้ไปทำงานที่หูเลย หากมีสิ่งเร้าคือเสียง ระบบการรับรู้ก็สามารถสลับไปทำงานที่หูได้ ซึ่งอาจใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น
To be continued...✎
📢ขณะนี้ผู้เขียนกำลังใช้โอกาสในการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในการศึกษาความจริงของโลกใบนี้ตามคำบอกเล่าของพระพุทธเจ้า และตั้งใจว่าจะนำความจริงเหล่านั้นมาเผยแพร่ในเว็บนี้
ผู้เขียนเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่ยังมิได้เห็นแจ้งในความเป็นจริงของสรรพสิ่ง หากมีเนื้อหาส่วนใดผิดพลาดไป ผู้เขียนขออภัยมา ณ ที่นี้ และจะเป็นเมตตาอย่างมาก หากท่านผู้อ่านชี้แจงแถลงไขส่วนที่ผิดพลาดนั้นมาในช่องคอมเมนต์ด้านล่าง ☟
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น